วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อดีและข้อเสียของการประชาสัมพันธ์

การใช้การประชาสัมพันธ์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่นเดียวกับการใช้เครื่องมือการสื่อสารการตลาดอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว สำหรับข้อดีที่สำคัญมีดังนี้ (Belch and Belch. 1993 : 639 – 640)

1.ความน่าเชื่อถือ (creditability)
การประชาสัมพันธ์ สามารถให้ความเชื่อถือได้มากกว่าการโฆษณา เพราะผู้ได้รับสารประชาสัมพันธ์ย่อมตระหนักดีกว่า สื่อมวลชนที่นำข่าวสารออกเผยแพร่นั้น เป็นการให้ข้อมูลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน จึงมีความรู้สึกว่าข่าวสารนั้นน่าจะเป็นความจริงเชื่อถือได้ ตัวอย่างเช่น บทความข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ที่ปรากในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันนั้น

2.ต้นทุน (cost)
ต้นทุนของการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่ามองในแง่ของ ต้นทุนสัมบูรณ์ (absolute cost) และ ต้นทุนสัมพันธ์ (relative costs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับจะถูกมาก เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเล็ก ๆ มีทุนน้อย สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ผลดีเท่าเทียมกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ไปจ้างบริษัทตัวแทนทำการประชาสัมพันธ์ให้ ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล

3.หลีกเลี่ยงความแออัดของสิ่งโฆษณา (avoidance of clutler)
เนื่องจากลักษณะหรือธรรมชาติของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ จัดอยู่ในประเภทของ “รายการข่าว” (news item) ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของสิ่งโฆษณาที่มีอยู่อย่างแออัดในสื่อต่าง ๆ ข่าวสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับการแนะนำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือข่าวสารด้านเทคโนโลยีอันแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการใหม่ ๆ จึงเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากกว่าข่าวสารโฆษณาทั่วไป

4.เป็นลู่ทางนำไปสู่การได้ลูกค้ารายใหม่ (lead generation)
การให้ข้อมูลข่าวสารผ่านการประชาสัมพันธ์ อันเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ (technological innovation) ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ (medical breakthrough) และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสอบถาม เพื่อทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากบุคคล หรือบริษัทต่าง ๆ จำนวนมากในเกือบจะทันที เมื่อทำการประชาสัมพันธ์ออกไป ซึ่งบุคคลหรือบริษัทดังกล่าวเหล่านี้ จะเป็นตัวเลือกของบริษัทในขั้นการแสวงหาลูกค้าอันจะนำไปสู่การขาย หรือเป็นลูกค้าในอนาคต (sale leads หรือ prospects) ในที่สุด

5.สามารถเข้าถึงกลุ่มเฉพาะได้ (ability to reach specific groups)
เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางตัวอาจจะเป็นที่สนใจต่อกลุ่มเป้าหมายเล็ก ๆ เฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งการใช้การโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดเหล่านี้ได้ หรือบางครั้งบริษัท หรือหน่วยงานอาจจะไม่มีความสามารถ หรือมีฐานะด้านการเงินดีพอ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะติดต่อสื่อสารเข้าถึงกลุ่มตลาดเหล่านี้ได้ ก็ด้วยการใช้การประชาสัมพันธ์โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

6.การสร้างภาพลักษณ์ (image building)
การใช้การประชาสัมพันธ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่การเสริมสร้างภาพลักษณ์ในทางบวก (positive image) ให้กับหน่วยงาน หรือบริษัทได้เป็นอย่างดี บริษัทใดก็ตามมีภาพลักษณ์ที่ดี มั่นคงในสานตาของลูกค้าหรือสาธารณชนทั่วไป ผลได้ที่ตามมาก็คือ จะเป็นเครื่องค้ำประกันไม่ให้ถูกมองในแง่ร้าย ในยามที่เกิดความเข้าใจผิด หรือโชคไม่ดีอันอาจเกิดขึ้นในตอนหลังได้

ส่วนข้อเสียของการใช้การประชาสัมพันธ์ มีที่สำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรก ก็คือว่า การประชาสัมพันธ์บางครั้งมีความเป็นไปได้ที่ว่า ไม่ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ตามกระบวนการสื่อสาร กล่าวคือ ข่าวสารอาจถึงผู้รับ แต่ผู้รับไม่สามารถทราบแหล่งต้นตอของข่างสารนั้นได้ และ ประการที่สอง การทำประชาสัมพันธ์บางครั้งไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับแผนงานการตลาด อันเป็นเหตุอันเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด ขาดการประสานงานกัน ผลที่เกิดขึ้นจึงมีทิศทางที่ไม่ต่อเนื่องสนับสนุนกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์การบางแห่งที่แผนกการตลาด และแผนกประชาสัมพันธ์ ต่างทำงานที่เป็นอิสระแยกจากกัน ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น จึงทำให้การสื่อสารไม่สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนไม่ลงรอยกับ เป็นต้น

ด้วยเหตุที่การประชาสัมพันธ์มีทั้งผลดี และผลเสียดังกล่าวข้างต้น การดำเนินงานการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดผลดีมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล นักประชาสัมพันธ์จำเป็นจะต้องกำหนดโปรแกรมการประชาสัมพันธ์ที่ดี เป็นที่สนใจของชุม และนำโปรแกรมที่กำหนดไว้ไปดำเนินการอย่างเหมาะสมอีกด้วย จึงจะประสบผลสำเร็จ และเพื่อที่จะตรวจสอบดูว่าโปรแกรมที่กำหนดไว้นั้น สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลตามที่มุ่งหวังหรือไม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการวัดผลการดำเนินงาน ซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป