วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประเภทของการส่งเสริมการขาย

การส่งเสริมการขาย แบ่งตามกิจกรรมการเสริมการขาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้คือ (Belch and Belch. 1993 : 576)

1.การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นที่ผู้บริโภค (consumer-oriented sales promotion)
กิจกรรมการส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นที่ผู้บริโภค ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ การแจกคูปอง (couponing) การแจกของตัวอย่าง (sampling) การให้ของแถม (premiums) การเพิ่มขนาดบรรจุภัณฑ์ (bonus packs) การลดราคา (price-offs) การคืนเงิน (rebates) การแข่งขัน (contests) การชิงโชค (sweepstakes) และการอุปถัมภ์กิจกรรพิเศษ (event sponsorship) กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเหล่านี้ จัดทำขึ้นมุ่งเน้นที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าและบริการ โดยตรง โดยออกแบบเสนอให้กับผู้บริโภคเพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้าของบริษัท

การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นที่ผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดที่เรียกว่า “กลยุทธ์ดึง” (pull strategy) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทำควบคู่กับการโฆษณา เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ตราใดตราหนึ่งของบริษัท หรือเป็นการสร้างอุปสงค์ให้เกิดขึ้นในตัวผู้บริโภค เพื่อผู้บริโภคจะได้เรียกหาซื้อผลิตภัณฑ์ตรานั้นจากผู้ค้าปลีก และจะผลักดันให้ผู้ค้าปลีกนำผลิตภัณฑ์นั้นจากผู้ค้าส่งมาจำหน่าย และขณะเดียวกันจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ค่าส่ง ไปรับผลิตภัณฑ์นั้นจากผู้ผลิต มาพร้อมที่จะจำหน่ายได้กับผู้ค้าปลีกอีกต่อหนึ่ง

2.การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นที่คนกลาง (trade-oriented sales promotion)
กิจกรรมการส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นที่คนกลาง หรือผู้จัดจำหน่ายที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ การให้ส่วนลดทางการค้า (trade allowances) การจัดแสดง ณ แหล่งซื้อ (point of purchase display) การแข่งขันทางการขาย (sales contests) การจัดโปรแกรมฝึกอบรม (training programs) การจัดแสดงสินค้า (trade shows) และการโฆษณาร่วม (cooperative advertising) กิจกรรมการส่งเสริมการขายเหล่านี้ จะออกแบบขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นจูงใจผู้จัดจำหน่ายหรือคนกลาง เพื่อให้รับเอาผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการไปจำหน่าย และทั้งยังเป็นการสร้างความพยายามพิเศษ ให้กับคนกลางเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริมการขายกับลูกค้าอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งจะกลายเป็นแรงผลักดันให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นคนกลาง จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ที่เรียกว่า กลยุทธ์ผลัก (push strategy) การแบ่งประเภทของการส่งเสริมการขาย ตามลักษณะของกิจกรรม

กิจกรรมการส่งเสริมการขายทั้งสองประเภทดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของงบประมาณค่าใช้จ่าย พบว่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณค่าใช้จ่าย จะใช้ไปเพื่อการส่งเสริมมุ่งเน้นด้านคนกลาง ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะใช้ไปเพื่อมุ่งเน้นด้านผู้บริโภค (Belch and Belch. 1993 : 576)

แบ่งประเภทของการส่งเสริมการขาย นอกจากการส่งเสริมการขายมุ่งเน้นผู้บริโภคและการส่งเสริมการขายมุ่งเน้นที่คนกลางดังกล่าวมาแล้ว ในตำราบางเล่มได้เพิ่มการส่งเสริมการขายมุ่งเน้นที่หน่วยงานขายด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หน่วยงานขายทั้งของผู้ประกอบการเอง และหน่วยงานขายของคนกลางได้ทุ่มความพยายามเพิ่มขึ้น อันมีผลต่อการส่งเสริมการขายเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นหน่วยงานขาย หรือพนักงานขาย จะได้นำไปกล่าวไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายโดยพนักงานขายโดยตรง ซึ่งจะกล่าวไว้ตอนหลัง