การส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นผู้บริโภคและคนกลาง ด้งกล่าวมาแล้วในตอนต้น จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างยอดขายให้สูงขึ้นในระยะสั้นได้เป็นอย่างดี ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ตราต่าง ๆ จึงมักจะนิยมนำมาใช้เพราะสามารถเห็นผลได้ทันที มากกว่าที่จะทุ่มลงทุนทางด้านการโฆษณา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องใช้เวลานานและเห็นผลช้า
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้การส่งเสริมการขายมากเกินไป ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อตราผลิตภัณฑ์ได้หลายทางเช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ตราใดที่มีการส่งเสริมเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้สูญเสียคุณค่าหรือภาพลักษณ์ในสายตาของผู้บริโภค อาจถูกมองว่าเหตุที่ผู้บริโภคซื้อก็เพราะมีการลดราคา อยากได้ของแถม หรืออยากได้คูปอง มากกว่าที่จะตัดสินใจซื้อเพราะอยากได้ผลิตภัณฑ์นั้นอย่างแท้จริง และเมื่อไม่มีการส่งเสริมด้วยสิ่งจูงใจพิเศษดังกล่าว พวกเขาก็อาจเปลี่ยนไปใช้ตราอื่นก็ได้
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การส่งเสริมการขายมุ่งเน้นผู้บริโภค อาจจะไปสู่สถานการณ์ที่มีปัญหา หรือ “หลุมพรางของการส่งเสริมการขาย” (sales promotion trap หรือ spiral) ก็ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคู่แข่งขันเป็นจำนวนมากใช้การส่งเสริมการขายกันแพร่หลาย ปัญหาเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ เมื่อบริษัทหนึ่งใช้การส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์และบริการจากคู่แข่งขัน ถ้าหากประสบผลสำเร็จจนกลายเป็นจุดเด่นสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน (differential advantage) คู่แข่งต่าง ๆ ก็จะจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายลอกเลียนแบบทันที และจะใช้กันอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมไปทั่ว ผลที่ตามมาก็คือ ไม่เพียงแต่จะทำให้แต่ละบริษัทมีผลกำไรลดลง แต่ยังเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะแยกตัวออกมาให้หลุดพ้น ออกจากลุ่มผู้นิยมการส่งเสริมการขายเหล่านั้นได้ (McAlister, quoted in Belch and Belch. 1993 : 622)
ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหาด้านการส่งเสริมการขาย เช่น เครื่องสำอาง และสายการบิน เป็นต้น ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (cosmetics industry) การจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเป็นจะต้องมีของแถม ของแจก หรือของชำร่วยควบคู่อยู่ด้วยเสมอจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนในอุตสาหกรรมสายการบิน (airline industry) ก็เช่นเดียวกัน การจัดโปรแกรมเพื่อรักษาให้ลูกค้าผู้โดยสารมีความภักดีต่อสายการบินของตน ได้เริ่มใช้กันมานานหลายปีแล้ว จะกระทั่งในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า สายการบินเกือบทุกบริษัทต่างก็มีโปรแกรมสะสมไมล์เพื่อมอบรางวัล (mileage-award programs) ด้วยกันแทบทั้งสิ้น ด้วยเกรงว่าหาไม่มีสิ่งจูงใจดังกล่าวจะทำให้เสียลูกค้าไปได้
โปรแกรมเหล่านี้สายการบินต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งในแง่ของการบริหารและรางวัลที่มอบให้ ซึ่งแต่ละปีคิดเป็นจำนวนเงินมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นเนื่องจากบริษัทสายการบินใหญ่ ๆ มีโปรแกรมต่าง ๆ ที่จัดเสนอให้กับลูกค้าที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน จึงเป็นการยากที่จะสร้างความแตกต่างในการให้บริการ ผู้บริหารสายการบินเป็นจำนวนในปัจจุบัน จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า รอคอยวันเวลาจะกำจัดโปรแกรมเหล่านี้ให้หมดไปเสียที
การใช้การส่งเสริมการขายเพื่อให้เกิดผลดีมีประสิทธิภาพ นักการตลาดจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อตราผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ ทั้งระยะสั้นและยาว จะต้องพิจารณาถึงความสะดวกที่คู่แข่งขันจะนำมาใช้ จะไม่สร้างความเสียหายให้แก่ร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อยด้วยการใช้การส่งเสริมการขาย และจะไม่เป็นต้นเหตุนำบริษัทเข้าสู่สงความการส่งเสริมการขาย เพื่อทำให้ผลกำไรของผลิตภัณฑ์นั้นค่อย ๆ ลดต่ำลง จนใจที่สุดต้องถอนตัวออกจากตลาดไป