การใช้ภาพประกอบในชิ้นโฆษณา มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการดึงดูดความสนใจแก่ผู้บริโภค เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคส่วนมากจะดูที่ภาพประกอบก่อน ก่อนที่จะดูพาดหัวและอ่านรายละเอียดตามลำดับดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น ภาพประกอบนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการรณรงค์โฆษณา ภาพประกอบที่ดีจะต้องมีลักษณะที่สามารถเรียกร้องความสนใจ สามารถสื่อความคิดหรือภาพลักษณ์ที่สัมพันธ์สอดคล้องกับพาดหัว และเนื้อหาของข้อความโฆษณา
นอกจากภาพของตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ปรากฏให้เห็นชิ้นโฆษณาก็มีส่วนสำคัญมากเช่นเดียวกัน อันได้แก่ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายสัญลักษณ์ของบริษัท หรือโลโก(logo) เป็นต้น จะต้องพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้อะไรเข้ามาเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งภาพที่นำมาประกอบควรจะใช้ภาพถ่าย หรือภาพวาด หรือการ์ตูน จะใช้สีสันอย่างไร และรูปแบบของภาพควรมีลักษณะแบบใด เป็นต้น
สำหรับรูปแบบของภาพประกอบที่ช่วยให้โฆษณาได้รับผลดี และนิยมใช้กันมาก มีดังนี้คือ (Jewler. 1992 : 135-136)
1.ภาพตัวผลิตภัณฑ์ (the product)
เป็นการแสดงภาพผลิตภัณฑ์ที่เสนอขาย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นปรากฏพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้า หรืออาจใช้รูปภาพตัวสินค้าอย่างเดียว เช่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และน้ำหอม เป็นต้น
2.ภาพส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ (part of the product)
เป็นการแสดงภาพผลิตภัณฑ์ในส่วนที่ต้องการเน้นโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป เช่น ภาพแปรงสีฟังที่แสดงลักษณะการโค้งงอของด้าม หรือลักษณะของแปรงที่สามารถเข้าถึงทุกซอกมุมของฟัง เป็นต้น หรือภาพรถยนต์ฝ่าครึ่งคันเพื่อให้มองเห็นลักษณะภายในตัวรถ เป็นต้น
3.ภาพผลิตภัณฑ์พร้อมที่จะใช้งาน (the product ready for use)
เป็นการแสดงภาพให้เห็นพร้อมที่จะใช้งาน เช่น ภาพอาหารที่ออกจากกล่องวางอยู่ในจาน ในบรรยากาศที่น่ารับประทาน ภาพแปรงทาสีจุ่มอยู่ในถังสี หรือภาพยาสีฟันที่บีบจากหลอดที่อยู่บนแปรงสีฟันพร้อมที่แปรง เป็นต้น
4.ภาพผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน (the product compared with the competition)
การเปรียบเทียบกระทำกัน 2 วิธี วิธีแรก เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทกับคู่แข่งขันโดยตรง วิธีนี้สำหรับในประเทศไทยจะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะหากเป็นการโฆษณาที่ทับถมกัน อาจมีการฟ้องร้องกันได้ การเปรียบอาจทำได้โดยไม่ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน วิธีที่ 2 เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์กับการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การโฆษณาครีมกันแดดของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยี่ห้อ Sundown โดยแบ่งครึ่งใบหน้าของผู้หญิง ครึ่งหนึ่งใบหน้ายังคงสดใส เพราะใช้ครีมกันแดด อีกครึ่งหนึ่งหน้าเหี่ยวย่นอันเกิดจากแสงแดง (sun damage) เพราะไม่ใช้ครีมกันแดด เป็นต้น
5.ภาพผลิตภัณฑ์กำลังทดสอบประสิทธิภาพ (the product being tested)
เป็นการนำภาพมาประกอบเพื่อแสดงการทดสอบประสิทธิภาพ หรือการใช้งานบ้างอย่างเพื่อจูงใจให้ลูกค้าคล้อยตาม
6.ภาพแสดงผลิตภัณฑ์ขณะใช้งาน (the product in use)
เป็นการนำภาพแสดงให้เห็น ขณะใช้งาน เช่น ภาพผู้หญิงยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความพึงพอใจที่ได้ขับรถสปอร์ตคันใหม่ของเธอ หรือภาพผู้ชายสดชื่น ขณะใช้สบู่ยี่ห้อใหม่ เป็นต้น
7.ภาพแสดงความสุขอันเป็นผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์ (the happy results of using the product)
เช่น ภาพผู้หญิง แสดงออกทรวดทรงของเธอใหม่ ภายหลังจากที่ได้ลดน้ำหนักประสบผลสำเร็จ หรือภาพผู้ชายแสดงความพึงพอใจ ภายหลังจากการดื่มเบียร์ยี่ห้อใหม่ เป็นต้น
8.ภาพแสดงความไม่สบายใจอันเป็นผลจากการไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ (the unhappy results of not using the product)
เช่น ภาพผู้ชายแสดงความไม่พอใจที่ไปขึ้นรถไฟฟ้าไม่ทัน เพราะนาฬิกาเดินช้า หรือภาพผู้หญิงใบหน้าหมอคล้ำดูไม่สวย ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เพราะไม่ใช้ครีมกันแดด เป็นต้น
การใช้ภาพประกอบที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้ทำการโฆษณาสามารถใช้ภาพประกอบได้อีกมากมายหลายรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้ด้วยว่า ในชิ้นโฆษณาสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพประกอบเสมอไป ชิ้นโฆษณาบางชิ้นประสบผลสำเร็จโดยไม่มีภาพประกอบก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าจากการศึกษาพบว่า การโฆษณาที่มีภาพประกอบด้วย สามารถดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้มากกว่า